Wednesday, June 10, 2009

1. ปลาทะเลน้ำลึก

ปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน

อาหารเพิ่มไขมัน HDL ชนิดดี ได้แก่ปลาทะเลที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอนและปลาแมคเคอเรล เพราะว่าพวกมันมีกรดโอเมก้าทรีสูง ซึ่งให้ระดับ HDL สูงขึ้น แม้ในรายที่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับคอเลสเตอรอลก็ตาม ในการทดลองให้ผู้ชายที่ระดับคอเลสเตอรอลเป็นปกติกินปลาแซลมอนกันอย่างไม่บันยะบันยัง เป็นอาหารมื้อกลางวันและมื้อเย็นเป็นเวลา 40 วันพบว่า ระดับคอเลสเตอรอล ชนิดดี HDL ของหนุ่ม ๆ ล้วนพุ่งขึ้นอย่างมากมาย ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ตัวช่วยชีวิตสำคัญที่อยู่ใน HDL เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 ยืนยันโดย ดร.เกรรี่ เจ เนลสัน แห่ง U.S.Department of Agriculture’s Western Human Nutrition Research Center ในซานฟรานซิสโก ตัวช่วยสำคัญนี้เอง ที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ที่น่าสนใจไปยิ่งกว่านั้นก็คือ เกิดขึ้นได้ภายใน 20 วันเท่านั้น ดร.เนลสันเองยังทึ่งกับการเปลี่ยนแปลงที่แสนอัศจรรย์และเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น ทีนี้ต้องกินปลาแซลมอนวันละเท่าไหร่ คำตอบก็คือวันละครึ่งกิโลกรัมแน่ะ จึงจะได้ผลสูงสุด กินน้อยกว่านี้ก็ได้ แต่ผลก็จะน้อยลงตามไปด้วย แต่ถ้าคุณเป็นคนที่มีระดับ HDL ต่ำกว่าเกณฑ์ คุณสามารถคาดหวังกับผลลัพธ์ที่ HDL จะสูงขึ้นได้จากการกินปลาอ้วนโอเมก้าทรีนี้แน่นอน กินปลาแมคเคอเรล ซาร์ดีนหรือทูน่าก็ช่วยได้ และปลาแซลมอนมีความพิเศษที่สามารถลดไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ได้ด้วย แนะนำให้หาโอกาสกินแบบซูชิ ซาซิมิ หรือหากไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ รับประทานปลาอ้วนโอเมก้าทรีในกระป๋องก็ใช้ได้

ปลาทูน่า เป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง ไขมันและคลอเลสเตอรอลต่ำ เป็นแหล่งของวิตามินและเกลือแร่ ทั้งวิตามิน B12 ไอโอดีน ฟอสฟอรัส ซิลิเนียม สังกะสี และแคลเซียม อีกทั้งยังให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ คือ โอเมก้า 3 ที่ช่วยบำรุงสมอง เสริมสร้างความจำ และยังช่วยลดคลอเลสเตอรอล ป้องกันโรคหัวใจ ป้องกันไขมันอุดตัดหลอดเลือด และป้องกันโรคอัลไซเมอร์ เป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก คนรักสุขภาพ เหมาะสำหรับคนทุกเพศทุกวัย

2. หอยนางรม

หอยนางรม เป็นอาหารทะเลที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย เป็นอาหารที่จัดได้ว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูง ส่วน
เปลือกหอย ใช้ทำปูนขาวซึ่งใช้ในการก่อสร้าง การเกษตรกรรม อุตสาหกรรมหลายประเภท
เนื้อหอย รับประทานสด และปรุงอาหารได้หลายอย่าง สามารถแปรรูปเป็นอาหารสำเร็จรูปได้อีก เช่นหอยนางรมดอง หอยรมควัน และสกัดเป็นน้ำมันหอย
หอยนางรมพบอยู่ทั่วไปตามบริเวณน้ำตื้นชายเกาะ ชายฝั่งทะเล แหล่งน้ำที่มีอาณาเขตติดต่อกับทะเล หอยนางรมมีหลายชนิดที่พบในประเทศไทย ได้แก่ หอยนางรมปากจีบขนาดเล็ก และหอยนางรมพันธุ์โตที่มีชื่อว่าหอยตะโกรม พบมากในจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี สุราษฎร์ธานี

ส่วนประกอบและคุณสมบัติของหอยนางรม
1. Taurin เป็นกรดอะมิโนตัวหนึ่งที่หลายคนไม่ค่อยรู้จัก โดยมีความสำคัญต่อร่างกาย ดังนี้
1.1 เทารีน ช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โดยเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับระบบ Renin-Angiotensin ในระบบไต
1.2 เทารีน ช่วยควบคุมการแลกเปลี่ยน เข้าออก ของอิออนต่างๆ จากเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว ปฏิกริยารีเฟล็กซ์ จึงพบได้มากในเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท ในเรื่องกระแสประสาทที่สมองส่วนกลาง ในเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อลาย และหัวใจ
1.3 เทารีน ช่วยในการสร้าง taurocholate ซึ่งจะไปทำให้ไขมันที่รับประทานเข้าไป แตกตัวเป็นโมเลกุลเล็กๆ ทำให้สามารถย่อยและเผาผลาญได้ง่ายขึ้น ทำให้ร่างกายนำพลังงานไปใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้เร็วขึ้น
1.4 เทารีน ช่วยให้สเปริม เคลื่อนที่และมีกำลังเคลื่อนที่ดีขึ้น ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้นในผู้ป่วยที่มีบุตรยาก
2. Glycogen เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญอย่างหนึ่งของร่างกาย ที่สามารถนำไป ใช้งานได้โดยตรงทันที เมื่อร่างกายอ่อนเพลีย หรือต้องการกำลังงานเพิ่ม
3. Essential Minerals เช่น สังกะสี (ซึ่งเป็นส่วนประกอบของฮอร์โมนเพศชาย Testosterone) ธาตุเหล็ก ทองแดง ไอโอดีน ซีลีเนียม ( ซึ่งเป็นสาร Antioxidants ป้องกันการเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ในร่างกายพร้อมทั้งเชื่อว่าสามารถกระตุ้นความต้องการทางเพศได้
4. Essential Fatty acids หลายตัวที่เป็นส่วนประกอบของฮอร์โมนที่สำคัญ ในร่างกาย และพบว่าสามารถเพิ่มจำนวนสเปริมได้
5. Vitamins หลายตัวที่ช่วยเสริมสร้างให้สุขภาพทั่วไปของร่างกายแข็งแรงขึ้น
ข้อควรระวัง ในการรับประทานหอยนางรมสดอาจมีอันตรายได้ เพราะถ้ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบ หรือพยาธิ ก็สามารถจะติดต่อได้ ส่วนการทำหอยนางรมให้สุกก่อนการรับประทาน ก็อาจทำให้สารอาหาร วิตามินถูกทำลายไปได้จากความร้อน

3. อาหารที่อุดมด้วยเบต้าแคโรทีน

อาหารที่อุดมด้วยเบต้าแคโรทีน เช่น แครอท บรอกโคลี เอพริคอต ยอดกระถิน ผักใบเขียวเข้ม ผักโขม ฟักทอง มันฝรั่ง มะละกอ

ฟักทอง เป็นผักที่มีประโยชน์และสามารถนำไปใช้ได้หลายทาง ถูกค้นพบในทวีปอเมริกา มนุษย์รู้จักปลูกและนำฟักทองไปใช้เป็นเวลานานแล้ว
ประโยชน์ของฟักทอง เนื้อฟักทองให้รสชาติมันอมหวาน จึงใช้ทำอาหารได้ทั้งคาวหวาน เช่น ฟักทองผัดไข่ แกงเลียงรวมผัก ฟักทองแกงบวด สังขยาฟักทอง เมล็ดฟักทองก็สามารถใช้เป็นทั้งยาและอาหารเสริมชั้นดี ร้อยละ 40 ในเมล็ดฟักทองเป็นไขมัน จึงนำมาสกัดเป็นน้ำมันปรุงอาหาร กรดอะมิโนบางชนิดที่ช่วยป้องกันไม่ให้ต่อมลูกหมากของผู้ชายใหญ่ขึ้น และช่วยปรับระดับฮอร์โมนเพศชายที่ได้จากลูกอัณฑะให้อยู่ในระดับปกติ นอกจากนั้นเมล็ดฟักทองมีสารที่ออกฤทธิ์ขับพยาธิตัวตืดออกมาได้ ยอดฟักทองสามารถนำมาออกจิ้มน้ำพริก ผัดน้ำมัน ใส่ลงหม้อแกงเลียง แกงส้มก็ได้ เนื้อของฟักทองอุดมไปด้วยสารเบต้าเเคโรทีน ซึ่งร่างกายคนเรานำไปสร้างวิตามินเอ และที่สำคัญคือเบต้าเเคโรทีนสัมพันธ์กับการลดโอกาสเกิดมะเร็งในมนุษย์ เนื้อฟักทองได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ปราศจากสารที่เป็นคู่อริต่อสุขภาพทั้งโซเดียมและ
คลอเลสเตอรอล หากกินทั้งเปลือกฟักทองยังสามารถกระตุ้นการหลั่งของอินซูลิน ซึ่งช่วย
ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันเบาหวาน โรคความดันโลหิต บำรุงตับ ไต นัยน์ตา และอวัยวะสำคัญที่ควบคุมสมดุลร่างกายโดยช่วยสร้างเซลล์ใหม่ทดแทนเซลล์ที่ตายไป ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เมล็ดฟักทองมีฟอสฟอรัสสูง สามารถนำไปกวนใช้เป็นอาหารเสริมให้แก่เด็กๆ ได้ ผลฟักทองที่มีคุณภาพดีต้องเป็นผลขนาดเล็ก เนื้อแน่นๆ ถ้าอยากกินฟักทองรสเข้มข้น เนื้อกระชับพิเศษก็ให้วางผลฟักทองทิ้งไว้ข้างนอกซักหลายๆวัน น้ำที่ระเหยออกไปจากผลจะช่วยให้เนื้อฟักทองมีรสจัดจ้านขึ้นและสารเบต้าแคโรทีนก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

มะละกอ
มะละกอดิบ อุดมไปด้วยวิตามินซี เอนไซม์ปาเปอิน และมีเอนไซม์ไคโมปาปเปน ซึ่งสามารถย่อยโปรตีนเนื้อสัตว์ ทำให้เนื้อนุ่มเร็ว ถ้าจะต้มเนื้อให้เปื่อยเร็วก็ให้ใส่มะละกอดิบลงไป เนื้อก็จะเปื่อยเร็วขึ้น
มะละกอสุก มีคุณค่าทางอาหารสูง มีทั้งวิตามินที่บำรุงสายตา มีวิตามินซีที่ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน มีธาตุเหล็กบำรุงเลือด มีแคลเซียมบำรุงกระดูก มีฟอสฟอรัสสูง และยังอุดมไปด้วยสารเบต้าแคโรทีนที่ช่วยต้านมะเร็ง มีเส้นใยอาหารช่วยระบบการขับถ่าย และมีสารแพคตินที่เคลือบกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
ใบมะละกอ แก้อาการปวดบวม นำใบมาย่างไฟหรือลวกกับน้ำร้อนให้อุ่นแล้วนำมาประคบตรงแผลที่ปวดบวม แผลจะยุบลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ถ้าเอาใบไปต้มเอาน้ำมาดื่มก็ช่วยขับปัสสาวะได้ด้วย
เมล็ดมะละกอ สำหรับสาวๆที่ประจำเดือนไม่มาให้นำเมล็ดมะละกอไปต้มแล้วเอามาทานก็จะช่วยขับประจำเดือนและขับพยาธิได้
ยางมะละกอ นอกจากจะทำให้เนื้อนุ่มแล้ว ยางมะละกอดิบยังแก้พิษตะขาบและแมลงกัดต่อยได้

4. อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซี

อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซี เช่น ผลไม้ตระกูลส้ม ผลไม้จำพวกเบอรี่ต่างๆ กีวี มะขามป้อม ผักใบเขียว ถั่วฝักต่างๆ พริกหวาน

สตรอเบอร์รี่ เป็นผลไม้ที่มีอานุภาพสูงมากในการต้านอนุมูลอิสระ (ต้นเหตุแห่งความแก่) และยังอุดมไปด้วยวิตามินซี, เอ, ฟอสฟอรัส และแคลเซียม จึงช่วยป้องกันโรคมะเร็ง, โรคหลอดเลือดอุดตัน, โรคหวัด และโรคภูมิแพ้ ผลการศึกษาทางการแพทย์ยังพบว่า เมื่อเทียบน้ำหนักที่เท่ากันกับผลไม้ชนิดอื่นๆ “สตรอเบอร์รี่” มีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระได้สูงกว่า “ส้ม” ถึงหนึ่งเท่าครึ่ง, สูงกว่า “องุ่นแดง” สองเท่า, สูงกว่า “กีวี” สามเท่า, สูงกว่า “กล้วยหอม” กับ “มะเขือเทศ” เจ็ดเท่า และสูงกว่า “ลูกแพร” ถึงสิบห้าเท่า

กีวี เป็นไม้เลื้อยลักษณะคล้ายกับต้นองุ่น โดยเปลือกกีวีจะมีเป็นขนฝอย สีน้ำตาล ถึงแม้ว่ากีวีจะมีหลายหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่ที่รู้จักกันดีจะเป็นกีวีสีเขียว ส่วนกีวีทองพบได้น้อยแต่รสชาติจะหวานกว่า ซึ่งช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม จะเป็นช่วงที่มีผลกีวีออกวางขายมากที่สุด
ผลกีวีส่วนใหญ่จะนำมาใช้ตกแต่งหน้าเค้ก ค็อกเทล ชีส สลัด หรือในซีเรียล รวมทั้งคั้นเป็นน้ำ ซึ่งภายในรสชาติเปรี้ยว อมหวานของกีวีนั้นจะเต็มไปด้วยวิตามินซี วิตามินเอ วิตามินดี เกลือแร่ เบต้าแคโรทีน ไฟเบอร์ โพแทสเซียม แมกนีเซียม ทองแดง และฟอสฟอรัส ซึ่งสารอาหารต่างๆ เหล่านี้มีประโยชน์ต่อร่างกาย คือ
1. ป้องกันดีเอนเอถูกทำลาย นักวิจัยให้ความสนใจในเรื่องประโยชน์ของกีวีในด้านต่างๆ จากการศึกษาในกลุ่มของเด็กชาวอิตาลีวัย 6-7 ขวบ โดยให้กินกีวีเป็นประจำทุกวัน พบว่าระบบการหายใจทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งแสดงว่ากรดซิทริกในกีวี ทำหน้าที่ป้องกันดีเอนเอ จากส่วนกลางของเซลล์ร่างกาย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับก๊าซออกซิจน แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกีวีประกอบไปด้วยสาร flavonoids และ carotenoids ที่ทำหน้าที่ต่อต้านอนุมูลอิสระ แต่นักวิจัยกลุ่มนี้ยังไม่ได้ทำการศึกษาแน่ใจว่าส่วนประกอบในกีวี จะทำหน้าที่ ต่อต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในร่างกายได้จริงหรือไม่
2. การป้องกันอนุมูลอิสระ เนื่องจากในกีวีเต็มไปด้วยวิตามินซี ซึ่งเป็นตัวละลายสารอนุมูลอิสระขั้นต้นในร่างกาย ทำให้เกิดความเป็นกลางในอนุมูล นั้น โดยอนุมูลจะเข้าไปทำลายเซลล์ร่างกาย ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น การติดเชื้อ โรคมะเร็ง โรคไขข้ออักเสบ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหืด ไขมันอุดตันในเส้นเลือด แก้วหูอักเสบ เป็นต้น หากได้รับปริมาณวิตามินซีในจำนวนที่เพียงพอจะทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายดีขึ้น โดยวิตามินเอในกีวีมีคุณสมบัติในในการละลายไขมัน ซึ่งวิตามินเอเป็นแหล่งอาหารของเบต้าแคโรทีน เมื่อเข้าไปรวมกับไขมันและน้ำในร่างกาย ทำให้สามารถละลายพิษจากอนุมูลอิสระต้นเหตุของการเกิดโรคดังที่กล่าวข้างต้นได้
3. ควบคุมน้ำตาลในเลือดและระบบขับถ่าย นักวิจัยพบว่าไฟเบอร์ในอาหารโดยเฉพาะในกีวี สามารถป้องกันระดับคลอเลสเตอรอลในเลือดได้ ซึ่งจะลดปัญหาความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหัวใจล้มเหลว โดยไฟเบอร์จะเข้าไปจับพิษให้ออกไปจากลำไส้ใหญ่พร้อมกับอุจจาระ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในการป้องกันมะเร็งในลำไส้ใหญ่ อีกทั้งไฟเบอร์ยังเป็นตัวช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดในกลุ่มคนที่เป็นโรคเบาหวานได้อีกด้วย
4. ป้องกันจากโรคหืด อาหารที่เต็มไปด้วยวิตามินซีมีคุณสมบัติสำคัญในการป้องกันผลกระทบ จากอาการระบบหายใจผิดปกติ โดยเฉพาะโรคหอบหืดซึ่งเกี่ยวข้องกับการหายใจโดยตรง
จากรายงานการวิจัยเมื่อเดือนเมษายน 2004 ของ Thorax ในกลุ่มเด็กอายุ 6-7 ปี จำนวน 18,737 คน ซึ่งบริโภคผลไม้ ที่มีกรดซิทริกคือกีวี ประมาณ 5-7 ลูก/สัปดาห์ พบกว่าเด็กกลุ่มนี้มีอัตราการหายใจติดขัดลดลง 44% อาการไอเรื้อรังลดลง 25% และอาการน้ำมูกไหลลดลง 28% เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่กินน้อยกว่า 1-2 ลูก/สัปดาห์
5. ป้องสายตาฝ้าฟาง จากรายงานการวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2004 ของ Opthamology เป็นการศึกษาในกลุ่มผู้หญิง 77,562 คน และผู้ชาย 40,866 คน โดยให้กินกีวี 3 ลูก/วัน พบว่าอัตราความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสายตาฝ้าฟางที่มักจะเกิดในผู้สูงอายุลดน้อยลงประมาณ 36% เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่กินวันละ 1.5 ลูก แสดงว่าสารอาหารอย่างวิตาเอ วิตามินซี วิตามิเอ และแคโรทีนที่อยู่ภายในกีวีมีผลต่อระบบการทำงานของสายตา ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่มีปัญหาการสายตา
6. ป้องกันโลหิตจาง กินกีวีวันละ 2 ลูก ลดความเสี่ยงต่อการจับตัวเป็นก้อนลิ่มเลือดและลดไขมันในเลือด เป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับคนที่มีเลือดจางที่ต้องใช้ยาลดไข้หรือแอสไพริน เนื่องจากในตัวยานี้สามารถทำให้เกิดอาการติดเชื้อ แผลอักเสบ และเลือดออกในระบบลำไส้ได้ โดยการศึกษาในกลุ่มคนที่กินกีวีวันละ 2-3 ลูกเป็นเวลา 28 วัน พบว่าการตอบสนองในการรวมตัวของเกล็ดเลือดลดลง 15% เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้กินกีวี แสดงว่าสารอาหารอย่างแมงกานีส โพแทสเซียม และทองแดง ในกีวีทำให้ระบบการทำงานของร่างกายเป็นปกติและป้องกันหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หากไม่ยากเกินไปลองหากีวีมากินวันละ 2-3 ลูกน่าจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงได้ไม่ยาก แต่ถ้ามีปัญหาเรื่องราคาสูงเพราะราคาของผลกีวีสดในประเทศไทยที่ยังแพงอยู่ ซึ่งยังมีอีกทางเลือกหนึ่งคือน้ำกีวีบรรจุกล่อง โดยให้สารอาหารใกล้เคียงกับผลสดและหาซื้อได้ง่ายตามซุปเปอร์มาเก็ตทั่วไป

5. อะโวคาโด

อะโวคาโด เป็นผลไม้รูปทรงรีสีเขียวเข้ม เนื้อในสีเหลืองอ่อน เนื้อเนียน รสชาติที่ออกมันๆก็เนื่องจากในเนื้อของอะโวคาโดมีปริมาณไขมันสูง แต่ไขมันนั้นเป็นไขมันที่ดีต่อร่างกาย เพราะเป็นกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวชื่อว่ากรดไขมันโอเมก้า 9 มีอยู่ในปริมาณสูงเช่นเดียวกับในน้ำมันมะกอก

เมื่อกินผลอะโวคาโดเป็นประจำ ก็จะช่วยลดโดคเลสเตอรอลในเส้นเลือดลงได้ด้วย รวมทั้งยังให้พลังงานสูงแต่มีน้ำตาลต่ำ ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจึงสามารถกินได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีโปรตีนสูงซึ่งเป็นโปรตีนที่ย่อยง่าย มีวิตามินสูง ทั้งวิตามินอี วิตามินเอ วิตามินบี และวิตามินซี และยังให้กากใยมากจึงเป็นประโยชน์ต่อระบบขับถ่ายอย่างมากเลยทีเดียว

6. กระเทียม

กระเทียมเป็นเครื่องปรุงอาหารและสมุนไพรของทุกชาติศาสนา

สรรพคุณของกระเทียม
1. ลดระดับไขมันและคลอเลสเตอรอลในเลือด จึงช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูงและ
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้ เพราะในกระเทียมมีสาร allicin อัลลิซิน แต่สารนี้มีในกระเทียมสด ถ้าเก็บไว้นาน ๆ หรือถ้ากระเทียมถูกความร้อนสารนี้จะสลายไป กระเทียมดองสามารถรักษาสารนี้ไว้ได้นานกว่า การกินกระเทียมเพื่อลดระดับคลอเลสเตอรอลนั้นต้องกินกระเทียม 10-15กลีบต่อวันหรือ 2-5 กรัมต่อวัน และควรจะบดให้กระเทียมละเอียดก่อนและต้องกินทันทีห้ามทิ้งไว้นาน
2. ลดน้ำตาลในเลือด
3. กำจัดพิษโลหะหนัก เช่น สารหนู ปรอท ตะกั่ว
4. เสริมสุขภาพมีเรี่ยวแรงกระตุ้นกำหนัด
5. ขับเสมหะ
6. ลดอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ
7. ฆ่าเชื้อโรค
8. ขับลม

ข้อเสีย
1. กระเทียมจะตกตะกอนทำให้มีฤทฺธิ์ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร จึงควรรับประทานพร้อมโปรตีนไม่ควรรับประทานตอนท้องว่าง

2. ทำให้มีอาการแพ้กระเทียมได้ ผื่นคัน หอบหืด

3. กินกระเทียมนาน ๆ เป็นพิษได้ คือทำให้เลือดแข็งตัวช้า ถ้ากินร่วมกับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดจะเสริมฤทธิ์กัน อันตรายมากโดยเฉพาะถ้าท่านจะต้องถูกทำผ่าตัด เพราะเลือดจะไหลไม่หยุด
ข้อคิด การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยลดไขมันในเลือดได้ดีกว่ากินกระเทียมวันละ10-15 กลีบ ที่สำคัญกินกระเทียมมากนั้นเหงื่อออกมาจะมีกลิ่นกระเทียมด้วย

7. หอมหัวใหญ่

หอมหัวใหญ่เป็นพืชสมุนไพรอย่างหนึ่ง มีบทบาทบำบัดอาการไม่สบายหลากหลาย และมีใช้กันทั่วโลก ไทยเราก็ใช้หอมหัวใหญ่ในการบำบัดอาการหวัดโดยการดม อาบน้ำหอมหัวใหญ่ หรือใช้น้ำหอมหัวใหญ่แช่เท้า

นอกจากนั้นหอมใหญ่ยังช่วยลดคลอเลสเตอรอล นักวิทยาศาสตร์พบว่า หอมหัวใหญ่สด ๆ สามารถลดคลอเลสเตอรอลลงได้ โดยไปเพิ่มปริมาณของไลโปโปรตีนความหนาแน่นสูง (HDL) ซึ่งเป็นไขมันตัวที่ดีที่จะไปช่วยกำจัดคลอเลสเตอรอลที่สะสมอยู่ในผนังหลอดเลือด

มีงานวิจัยอีกหลายแหล่งพบว่า ไม่ว่าหอมหัวใหญ่จะสุกหรือดิบก็สามารถลดไขมันในเลือดได้ ทั้งยังช่วยทำให้เลือดไม่แข็งตัวไปอุดหลอดเลือด ดังนั้นจึงช่วยลดอัตราเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจและอัมพาต

การกินอาหารที่มีหอมใหญ่เป็นส่วนประกอบของเครื่องปรุงของอาหารมันๆ จะช่วยทำให้
ไตรกลีเซอไรด์ที่อาจจะสูงหลังมื้ออาหารลดลงได้บ้าง

นักวิจัยบางคนยังรายงานอีกว่า หอมใหญ่สามารถป้องกันมะเร็ง เพราะมีสารประกอบกำมะถันสูง โดยการที่หอมใหญ่มีกลิ่นฉุนนั่นคือกลิ่นกำมะถัน สารประกอบกำมะถันนี้จะช่วยยับยั้งการเติบโตของมะเร็ง ทำให้ก้อนมะเร็งขยายขนาดไม่ได้

8. เมล็ดอัลมอนด์

อัลมอนด์เป็นถั่วประเภท Tree Nut ซึ่งให้คุณค่าสารอาหารต่อร่างกายมากกว่าถั่วประเภทคลุมดินอย่างถั่วลิสง ถั่วเขียว ฯลฯ และอัลมอนด์ยังถูกจัดให้เป็น 1 ใน 10 สุดยอดอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะคุณประโยชน์ของอัลมอนด์มีมากมาย ในเมล็ดอัลมอนด์อุดมไปด้วยกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ประกอบไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (Monounsaturated Fatty Acid) และกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated Fatty Acid) ซึ่งช่วยเพิ่มระดับ HDL (High-Density Lipoproteins) หรือไขมันดี และช่วยลดระดับ LDL (Low-Density Lipoproteins) หรือไขมันเลว

ทั้ง HDL และ LDL จะเป็นตัวพาคลอเลสเตอรอลเคลื่อนที่ไปตามกระแสเลือด หากร่างกายมี LDL หรือไขมันเลวในปริมาณมาก คอเลสเตอรอลจะเคลื่อนที่ลำบาก และจะสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด ตามเส้นเลือดที่ส่งไปเลี้ยงหัวใจและสมอง และถ้าคลอเลสเตอรอลที่เกาะอยู่ตามหลอดเลือดไปรวมตัวกับสารอื่น อาจเกิดเป็นลิ่มไขมันทำให้หลอดเลือดตีบตัน ขัดขวางการไหลเวียนของกระแสเลือด หากเส้นเลือดตีบตันที่หัวใจ อาจทำให้เกิดโรคหัวใจ และหากเส้นเลือดตีบตันที่สมอง อาจทำให้เป็นอัมพาตได้ แต่ถ้าร่างกายเรามีไขมันดี หรือ HDL มากกว่า ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ เพราะ HDL จะช่วยให้คลอเลสเตอรอลเคลื่อนที่ได้ดี และทำให้คลอเลสเตอรอลหลุดออกจากผนังหลอดเลือด และส่งไปยังตับเพื่อกำจัดออกจากร่างกาย

ในต่างประเทศมีการวิจัยถึงประโยชน์ของอัลมอนด์อย่างจริงจังกันมานานแล้ว ซึ่งผลการวิจัยจากหลากหลายสถาบันให้ผลตรงกันว่า อัลมอนด์มีบทบาทกับสุขภาพหัวใจอย่างมาก เพราะมีส่วนประกอบสำคัญอย่างกรดไขมันที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ทั้งกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวและเชิงซ้อน เมื่อรับประทานเป็นประจำ จึงมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้เป็นอย่างดี

ผลการวิจัยจากสถาบันชั้นนำทั้งในยุโรปและอเมริกายังพบว่า ถ้ารับประทานอัลมอนด์เพียงวันละ 1 หยิบมือ ช่วยลด LDL ได้ถึง 4.4% และถ้ารับประทาน 2 หยิบมือต่อวัน ช่วยลด LDL ได้ถึง 9.4% รวมไปถึงผลวิจัยจาก Nation Cholesterol Education Program ก็รายงานผลออกมาในรูปแบบเดียวกัน

นอกจากกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายแล้ว อัลมอนด์ยังอุดมไปด้วยไฟเบอร์ โปรตีนจากพืช วิตามินบี วิตามินอี และโอเมก้า 3 ซึ่งจำเป็นสำหรับการเสริมสร้างเซลล์ที่สึกหรอของผิวหนัง เส้นผม ทั้งยังช่วยชะลอริ้วรอยก่อนวัย รวมทั้งไฟเบอร์ที่ได้จากอัลมอนด์ยังช่วยลดการเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย

ถึงแม้ว่าอัลมอนด์จะมีสารอาหารประเภทไขมันในปริมาณที่สูง แต่ไขมันจากอัลมอนด์นั้นเป็นไขมันที่ดี ช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอลและจำเป็นต่อกระบวนการทำงานของร่างกาย ดังนั้น อัลมอนด์จึงเป็นอาหารที่ได้รับการแนะนำให้รับประทานเพื่อลดคลอเลสเตอรอลและรับประทานแทนอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว โดยไม่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เราจึงรับประทานอัลมอนด์แทนของหวานหรือขนมขบเคี้ยวระหว่างวันได้


9. น้ำมันมะกอก


น้ำมันมะกอกสำหรับปรุงอาหาร เป็นน้ำมันที่แคลอรี่สูงแต่มีข้อดีคือ มีกรดไขมันดี HDL ที่เป็นประโยชน์กับร่างกายสูง โดยเป็นตัวควบคุมระดับคลอเลสเตอรอลในเลือด จึงช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจได้ นอกจากนี้ในน้ำมันมะกอกยังประกอบด้วยวิตามินวิตามินเอ และอี ที่เป็นสารแอนตี้ออกซิแดนท์ ทำให้น้ำมันมะกอกไม่เหม็นหืน โดยไม่ต้องเติมสารกันหืนเหมือนน้ำมันพืชบางชนิด

มีผลการศึกษายืนยันว่า น้ำมันมะกอกช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิง และยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วย

ชนิดของน้ำมันมะกอก
1. Extra Virgin Oil เป็นน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ จากการบีบจากลูกมะกอก มีสีเขียวเข้มใส นิยมนำมาใช้ในการทำสลัด น้ำจิ้ม หรือเครื่องปรุงรสอื่น ๆ
2. Refined Olive เป็นน้ำมันมะกอกที่ผ่านการกลั่น ราคาจะถูกกว่าชนิดแรก และมีสีเขียวใสกว่า 3. Olive Oil เป็นน้ำมันมะกอกที่ให้สีอ่อนกว่าสองชนิดแรก เป็นการผสมระหว่างน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์กับน้ำมันมะกอกที่ผ่านการกลั่น เหมาะสำหรับปรุงอาหารที่ไม่ต้องการกลิ่นที่รุนแรงหรือสำหรับคนที่ลองใช้น้ำมันมะกอกในการปรุงอาหาร ราคาถูกกว่า 2 ชนิดแรก


วิธีปรุงอาหารด้วยน้ำมันมะกอกปรุงอาหาร
1. นำมาใช้เป็นส่วนผสมในการทำน้ำสลัด น้ำจิ้ม
2. นำมาใช้ในการผัดชนิดที่ใช้น้ำมันน้อย เช่นผัดผักเร็ว ๆ ผัดกระเพรา มักกะโรนี สปาเก็ตตี พาสต้า
3. นำมาใช้ในการหมักเนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ ก่อนที่จะนำไปอบจะทำให้เนื้อนุ่มขึ้น
4. ใช้เป็นน้ำมันสำหรับทอด จะช่วยให้อาหารไม่อมน้ำมัน เนื่องจากน้ำมันมะกอกจะให้ความร้อนสูงทำให้อาหารสุกทั่วถึงอย่างรวดเร็ว ไม่สูญเสียคุณค่าทางโภชนาการ

10. น้ำมันเมล็ดองุ่น

ตั้งแต่ปี 1980 พบว่า มีการใช้สารกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์ที่มีอยู่มากในสารสกัดจากเมล็ดองุ่นเพื่อรักษาความผิดปกติของหลอดเลือดและเส้นเลือดฝอย เสริมสร้างความแข็งแรงของหลอดเลือด และใช้รักษาเบาหวานขึ้นตา จอประสาทตาเสื่อม

เนื่องจากในเมล็ดองุ่นมีสารฟลาโวนอยด์ชนิดที่เรียกว่า โอลิโกเมริค โปรแอนโธไซยานิดีน (Oligomeric Proanthrocyanidin) หรือ OPC ในปริมาณสูงมาก สาร OPC มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าวิตามินซี 20 เท่าและสูงกว่าวิตามินอีถึง 50 เท่า เรียกว่ามีคุณสมบัติเป็นซุบเปอร์แอนตี้ออกซิแดนท์ ทำให้ OPC ได้รับการยกย่องในวงการแพทย์ และ เภสัชกรรมว่า เป็น “สารอาหารมหัศจรรย์”

ในประเทศฝรั่งเศส สาร OPC จัดเป็นอาหารเสริมที่แพทย์สั่งจ่ายในผู้ป่วยที่มีแนวโน้มของอาการเส้นเลือดเปราะ เส้นเลือดแตก และ หลอดเลือดอุดตัน เพื่อช่วย ปรับสมดุลร่างกาย ปรับสมดุลคลอเลสเตอรอล ลดอาการอักเสบและอาการบวม ป้องกันมะเร็ง ปกป้องเซลล์สมองจากการถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคข้ออักเสบ ลดภูมิแพ้จากยาต้านไวรัส ยาต้านมะเร็ง และเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกาย

ปัจจุบัน “น้ำมันสกัดเย็นจากเมล็ดองุ่น” ได้รับการยอมรับจากนักวิจัยชั้นนำทั่วโลกว่ามีสรรพคุณในการชะลอริ้วรอยของผิวพรรณได้ดีกว่าบรรดาสารแอนตี้อ็อกซิแดนซ์อื่นๆ ผิวพรรณเป็นส่วนที่ได้รับแสงอุลตร้าไวโอเล็ตก่อให้เกิดอนุมูลอิสระซึ่งเป็นอันตรายต่อผิวหนังโดยการทำลายเนื้อเยื่อคอลลาเจน ทำให้ผิวหนังมีริ้วร้อยแก่ก่อนวัยอันควร นอกจากสารแอนตี้อ็อกซิแดนซ์ประเภทวิตามินซีและวิตามินอี จะสามารถช่วยชะลอผิวพรรณไม่ให้ริ้วรอยได้ น้ำมันสกัดเย็นจากเมล็ดองุ่นจะช่วยบำรุงผิว คงความอ่อนเยาว์ ยืดอายุของเซลล์ผิว ช่วยซ่อมแซมและฟื้นฟูเซลล์ผิวที่เสื่อมให้กลับแข็งแรง ทำให้ผิวพรรณกระชับเต่งตึงขึ้น สาร OPC สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่อวัยวะต่างๆได้อย่างรวดเร็ว สามารถกำจัดอนุมูลอิสระในร่างกายได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพในการจับกับโปรตีนคอลลาเจนได้ดี ซึ่งเป็นคุณลักษณะพิเศษของ OPC ในการป้องกันริ้วรอยที่จะเกิดขึ้น

ด้วยขั้นตอนกรรมวิธีการผลิตโดยวิธีสกัดเย็น (cold pressed) ที่ปราศจากสารเคมี และความร้อนสูง สามารถคงคุณค่าของสารแอนตี้ออกซิเดนท์ชั้นยอดจากเมล็ดองุ่น ทำให้น้ำมันสกัดเย็นจากเมล็ดองุ่น สามารถป้องกันโรคหัวใจ ลดคลอเลสเตอรอล เพิ่มความแข็งแรงให้หลอดเลือด ลดการเกิดลิ่มเลือด ลดการอุดตันของเส้นเลือด ทำให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น เส้นเลือด ไม่ตีบตัน เป็นสารป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง และ ยับยั้งเซลล์มะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม รวมถึง สามารถป้องกันเซลล์มะเร็งในช่องปาก จมูก หลอดอาหารอีกด้วย มีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจ โดยทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง และทนทานต่อภาวะการขาดเลือด และลดการเต้นผิดจังหวะ มีผลทำให้ลดอัตราการตายจากโรคหัวใจ ป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระที่มีผลทำให้เซลล์เสื่อมสภาพ ช่วยเสริมความแข็งแรงให้แก่ข้อต่อต่างๆ เสริมโปรตีนคอลลาเจน